SACICT หนุนหัตถกรรมไทย ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ดึงจุดแข็งต่อยอดนวัตกรรม Cross Innovation ผสานเครือข่ายภาครัฐ ภาคการผลิตเทคโนโลยี


      



งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกล้ำค่าทางภูมิปัญญาและเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่การจะพัฒนาหัตถกรรมไทยให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคการผลิต และเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญและโดดเด่นในด้านต่างๆ เพื่อตอบรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์กรมหาชน) จึงได้จัดการอภิปรายเชิงวิชาการ Cross Innovation Symposium” เพื่อเป็นกิจกรรมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการต่อยอดจุดแข็งของงานหัตถกรรมให้นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์        
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาหัตถกรรมไทยสู่สากล  พรรณวิลาส แพพ่วง  ผู้จัดการสายงานพัฒนาการตลาด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาหัตถกรรมไทยเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยผสานจุดแข็งและความเชี่ยวชาญจากเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ แบ่งเป็น  3 ส่วนหลัก ได้แก่  ส่วนที่ 1.Cross Policy การผสานกับเครือข่ายองค์กรภาครัฐเพื่อร่วมมือส่งเสริมให้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยใช้ความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน เป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวของงานหัตกรรม นำจุดแข็งความเป็นไทยมาหนุนเสริมการทำงานกันและกัน
            ส่วนที่ 2.Cross Sector การผสานกับเครือข่ายผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆเพื่อต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถกรรม เพราะการทำธุรกิจในโลกยุคนี้จะไม่สามารถแข่งขันได้ หากไม่มีนวัตกรรมสร้างสรรรค์และผสมผสานการทำงานที่มีความแปลกใหม่ ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงต้องเปลี่ยนมุมมองไปจากการทำธุรกิจในแบบเดิม
            ส่วนที่ 3. Cross Technology การผสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่มีความโดดเด่นและเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้หัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวิถีโลก
            หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือแบบ Cross Policy ระหว่างเครือข่ายภาครัฐที่หนุนเสริมกันได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การส่งเสริมงานหัตถกรรมกับการท่องเที่ยว“วิถีไทย” ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับประเทศ  
             แสงจันทร์ แก้วประทุมรัศมี รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า งานหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทยที่มีคุณค่า สามารถสร้างความประทับใจ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาพบเห็นอยากเดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยแหล่งผลิต สัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้รับการยอมรับทั่วโลก
            “ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านทอผ้าไทยในจ.สุรินทร์ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ชื่นชอบในงานศิลปะไทย เดินทางมาโดยตรงเพื่อสั่งผ้าทอผืนหนึ่งราคา 3-4 แสนบาทขึ้นไป โดยวางแผนกลับมาท่องเที่ยวและรับสินค้าในปีถัดไป บางรายยังต่อยอดทำธุรกิจนำเข้าส่งออก ส่งผลให้เกิดการสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง”
            เช่นเดียวกับอีกหนึ่งมุมมองตัวแทนเครือข่าย Cross Policy ภาครัฐ  นิธิรุจน์ โผนประเสริฐ  ผู้อำนวยการกองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  กระทรวงต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดถึงการดำเนินงานของกระทรวงต่างประเทศที่ผ่านมาว่า งานหัตถกรรมไทยสามารถเดินคู่ไปการทูตเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยหนุนเสริมกันและกัน ตัวอย่างเช่น การจัดงานเทศกาลไทยเพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆได้รู้จักวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งสินค้าหัตถกรรมไทยเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยที่ได้นำไปจัดแสดงเป็นประจำทุกปี จนได้รับการยอมรับในต่างประเทศ
            ขณะที่ตัวแทนผู้บริหารจากภาคการผลิต ชัย นิมากร ประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท   แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด แลกเปลี่ยนมุมมองถึงความร่วมมือในรูปแบบ Cross Sector โดยยกตัวอย่างการนำความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มาเป็นสร้างสรรค์การออกแบบสินค้ารุ่น“ศักดิ์ศรีปฐพีไทย” และการนำแรงบันดาลใจจากชุดเสื้อเกราะนักรบโบราณของไทยมาดีไซน์ประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้ากีฬา  โดยผู้บริหารแกรนด์สปอร์ต มองว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่สินค้าไทยจะเติบโตไปพร้อมกับกระแสโลกในด้านการกีฬา ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยกับกีฬามวยไทยซึ่งเป็นที่รู้จักชื่นชอบของทั่วโลก  การใช้ซูเปอร์สตาร์นักกีฬาไทยเป็นทูตช่วยเผยแพร่สินค้าไทยให้กับแฟนคลับทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
            ปิดท้ายด้วยมุมมองด้าน Cross Technology โดย จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ Founder & CEO : WAZZADU.com แพลตฟอร์มสำหรับการทำตลาด และซื้อขายด้านวัสดุและตกแต่งผ่านออนไลน์ ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนหัตถกรรมไทยไปสู่ระดับโลก โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3C ได้แก่ C-Content การสร้างสรรค์เนื้อหาเล่าเรื่องราวของสินค้าผ่านกลยุทธ์ Storytelling ดึงดูดด้วยภาพถ่ายและเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมีความต่อเนื่อง , C-Create การสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจและวิธีการเข้าถึงตลาดด้วยเทคนิคใหม่ๆ และ C-Community การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน จับมือร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการโปรโมทสินค้าไทยไปสู่สากล  
            “ วัสดุดอทคอมเป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าวัสดุและของตกแต่งกว่า 3 หมื่นรายการ 400 กว่าแบรนด์ชั้นนำสิ่งที่เราภูมิใจคือการเป็นสื่อกลางออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าในต่างประเทศกับผู้ผลิตผลงานหัตถกรรมโดยตรง ช่วยลดขั้นตอนคนกลาง โดยใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาเติมเต็มโอกาสธุรกิจ วันนี้ ประเทศไทยเราจึงต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่เสพเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องมาร่วมมือกันดึงจุดแข็งของงานหัตถกรรม มาต่อยอดกับนวัตกรรมในการทำธุรกิจ เพราะโอกาสในตลาดโลกรอเราอยู่”

            วันนี้ หัตถกรรมไทยกับการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องไกลกัน แต่ต้องเดินไปด้วยกัน โดยการต่อยอดหัตถกรรมด้วยนวัตกรรม Cross Innovation ผสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคการผลิต เทคโนโลยี นำจุดแข็งความเป็นไทยมาเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาอย่างมั่งคั่ง และยั่งยืน                                                        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ เปิดบ้าน ‘Excellent Model School’ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก โชว์หลักสูตรเด่น ผลงานเจ๋ง หวังดึงคนรุ่นใหม่ ผลักดันอาชีวศึกษาไทย ก้าวไกลสร้างชาติ

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น จับคู่ กลุ่มมิตรผล เปิดบ้าน “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” (Excellent Model School) ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โชว์ความพร้อมของสถานศึกษาและสถานประกอบการ ผลิตอาชีวะสายพันธุ์ใหม่

มูลนิธิเอสซีจีชวนดูหนังสั้น “ทางเลือก” พร้อมร่วมสนุก “ชม” และ “แชร์” ฉากประทับใจ ลุ้นรับรางวัลสุดพิเศษ